“คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของใครที่จะเป็นผู้ดูแล : ครอบครัว ชุมชน หรือรัฐ/ท้องถิ่น” จังหวัดสมุทรปราการ
เรื่องเล่าที่ประทับใจในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล
ความอยู่รอดปลอดภัยและความสุขสบายของผู้สูงวัยที่สังคมส่วนใหญ่มักเสนอให้ เป็นเพียงมิติแรกของความต้องการและปรารถนาขั้นพื้นฐานของผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆอีก 4 ประการ ที่มักไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้สูงวัย คือ ความสัมพันธ์ การทำงาน การพึ่งพาตนเอง และมิติสุดท้าย คือ การเป็นผู้ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือ
บทบาทที่เป็นรูปธรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำและเป็นได้อีก 9 ประการ ทีจะสามารถสนับสนุนให้ผู้สูงวัยธรรมดาเป็นผู้สูงวัยที่มีพลังสร้างสรรค์ หรือ Active Ageing ได้แก่
1) บทบาทคนทำงาน 2) บทบาทอาสาสมัคร 3) บทบาทผู้เรียนรู้ 4) บทบาทผู้ประกอบการ 5) บทบาทผู้ดูแลครอบครัว : การเลี้ยงหลาน,การทำงานบ้าน,การให้คำปรึกษา เป็นต้น 6) บทบาทการรวมกลุ่มสังคม เช่นการสวดมนต์/ไปวัด การผลิตสินค้าในชุมชนเป็นต้น 7) บทบาทผู้เล่าเรื่อง โดยการถ่ายทอดประสบการณ์ในชีวิต การผจญภัย การทำงาน เป็นต้น8) บทบาทศิลปิน ทบทวนประสบการณ์ชีวิตกลั่นกรองเป็นชิ้นงานศิลปะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ9) บทบาทนักกีฬา เป็นสมาชิกชมรมนักวิ่ง ปิงปอง ออกกำลังกาย เป็นต้น
ทั้งมิติ 5 ประการ และบทบาทที่สังคมคาดหวังไว้แก่ผู้สูงวัย โดยเปลี่ยนวิธีมองผู้สูงวัยจากผู้รอรับการช่วยเหลือ เป็นผู้มีความสามารถกระทำการ ย่อมสนับสนุนให้เกิดระบบบริการที่เอื้อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพของตนเองในทางสร้างสรรค์ มีความหวัง มีความหมาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ไม่ได้เอื้อกับสภาพการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเป็นครอบครัวข้ามรุ่น ที่วัยหนุ่มสาวต้องเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานมาทำงานในพื้นที่ที่มีเศรษฐกิจสูง โดยละเลยทิ้งสำนึกถึงภาระหน้าที่ของตนเองต่อสถาบันครอบครัว และจริยธรรม คุณธรรมที่ดีงาม
ผลที่เกิดขึ้นในพื้นที่
จังหวัดสมุทรปราการมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั้งสิ้น 220,602 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุที่เข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการของรัฐและได้รับเบี้ยยังชีพ จำนวน 179,286 ราย ผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ 42,530 ราย ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีรายได้ เป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงจำนวน 2,011ราย ผู้สูงอายุที่ต้องดำรงชีพด้วยการเร่รอน ขอทาน จำนวน 323 ราย และผู้สูงอายุที่ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ จำนวน 3 ราย (ที่มา : สนง.พมจ.สมุทรปราการ ณ วันที่ 30 ส.ค 2564)
และเมื่อลงพื้นที่ดำเนินการสำรวจข้อมูลกลุ่มประชากรกลุ่มประชากรเฉพาะที่อยู่ในภาวะยากลำบาก(ที่ตกสำรวจและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ) จำนวน 6 อำเภอ อำเภอละ 20 คน รวมเป็น 115 คน พบว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันในการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจให้อยู่รอด ต้องออกไปทำมาหากินนอกพื้นที่ หรือมีทัศนคติในการดำรงชีวิตที่แตกต่างออกไป คิดง่ายเห็นแก่ตัวใช้ชีวิตแบบง่ายๆแบบรักง่ายหน่ายเร็ว เมื่อเกิดปัญหาตามมาก็จะนำภาระมาทิ้งไว้ให้ปู่ย่าตายาย ทำให้สัมพันธภาพและความรักในครอบครัวน้อยลง ภาระหน้าที่ในครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังมากขึ้น เกิดปัญหาในการดูแลตนเองหรือสวัสดิภาพในการดำรงชีวิต เช่น การอาศัยอยู่กับผู้อื่น หรืออาศัยอยู่ในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัยเพียงพอ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังจะเกิดความเครียดต่อสุขภาพจิต ดังยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ลงไปจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ จำนวน 5 ราย ดังนี้
กรณีศึกษา : ติดต่อลูกไม่ได้
1. นางหนู ต.บางเสาธง เป็นหญิงหม้าย อายุ 88 ปี สามีเสียชีวิตแล้ว มีลูก 5 คน เป็นผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 1 คน ปัจจุบันติดต่อลูกไม่ได้ 3 คน อาศัยอยู่กับลูกสาวที่ไม่มีรายได้อะไร ตนเองช่วยเหลือตนเองได้ไม่ดี มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันและโรครูมาตอยด์ ต้องไปรพ.สต เพื่อรับยาตลอด ถึงแม้จะมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุแต่ก็ไม่เพียงพอ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิตมาก เศร้า หดหู่ ท้อแท้
กรณีศึกษา : ลูกทอดทิ้ง
2. นายบุญเรือน ต.บางเสาธง เป็นหม้ายหย่าร้างกับภรรยาเมื่ออายุ 52 ปี ปัจจุบัน อายุ 75 ปี มีลูก 3 คนผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 1 คน “ระยะเวลา 21 ปีแล้ว บุตรไม่เคยเข้ามาดูแลเลย” ปัจจุบันอาศัยอยู่กับวัดเสาธงกลาง มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันและโรคเบาหวาน มีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุ
กรณีศึกษา : ทิ้งหลานไว้ให้เลี้ยง
3. นางสุมาลี ต.ศีรษะจรเข้น้อย อายุ 57 ปี มีสามีทำงานเป็นลูกจ้าง อบต. มีรายได้วันละ 300 บาท ตนเองมีสุขภาพไม่แข็งแรงทำงานไม่ไหว เนื่องจากเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ต้องรับยาทุก6 เดือน แต่ลูกสาวนำหลานที่เป็นโปลิโอมาให้เลี้ยง เพราะจะไปมีครอบครัวใหม่ และต้องดูแลพี่สาวที่ป่วยเรื้อรังมาอาศัยอยู่ด้วย
กรณีศึกษา : โดดเดี่ยวลำพัง
4. นายชัยมงคล ต.บางปูใหม่ อายุ 62 ปี มีภรรยา แต่แยกกันอยู่ มีบุตร 3 คน ไม่มาดูปล่อยให้อยู่ตามลำพังที่บ้านเช่าคนเดียว อดีตเคยประกอบอาชีพรับจ้าง แต่เนื่องจากพักผ่อนน้อย เมื่ออายุ 40 ปี จึงประสบปัญหาอัมพฤกษ์ซีกขวาไม่มีแรงทำงาน ปัจจุบันหาของเก่ามาเลี้ยงตนเองให้มีชีวิตรอดไปวันวัน
5. นางสมจิตร ต.ท้ายบ้านใหม่ เป็นหญิงหม้ายสามีเสียชีวิตแล้ว อายุ 92 ปี อดีดเมื่ออายุ 30 ปีเคยทำงานโรงงานและรับจ้างทั่วไป มีบุตร 4 คน ปัจจุบันอยู่คนเดียวตามลำพัง โดยอาศัยบ้านผู้อื่นอยู่ ลูกทำงานคนละที่นานๆจะกลับมาดูที มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรักษาที่ รพ.สมุทรปราการแต่ไม่ต่อเนื่อง
ความรู้สึก/สิ่งที่ได้เรียนรู้
จากการได้ศึกษาและเรียนรู้จากกลุ่มประชากรเฉพาะที่อยู่ในภาวะยากลำบาก จังหวัดสมุทรปราการ (ที่ตกสำรวจและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ) โดยนำกลุ่มผู้สูงอายุ(ที่ถูกทอดทิ้ง) จำนวน 44 คน และยกตัวอย่างกรณีศึกษาจำนวน 5 คน มาศึกษาวิเคราะห์ออกมาเป็นเรื่องเล่านั้น
ความรู้สึก คือ เศร้า สงสาร
และสิ่งที่ได้เรียนรู้ที่สะท้อนออกมา คือ สังคมไทยต่อไปจะเป็นสังคมไร้ลูกหลาน ซึ่งทำให้เกิดคำถามชวนให้คิดต่อว่า ถ้าผู้สูงอายุต้องอยู่ในบั้นปลายชีวิตคนเดียว จะอยู่กันอย่างไร และใครจะเป็นคนดูแล ถึงเวลาที่จะต้องเตรียมความพร้อมกันอย่างจริงจังแล้วหรือยัง????? เพราะทุกวันนี้แนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีผู้ดูแลในบั้นปลายของชีวิต โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมที่นำไปสู่การสูงวัยอย่างมีคุณภาพ คือ การจัดระบบการดูแลโดยชุมชน โดย อปท.เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนร่วมกับบ้าน วัด โรงเรียน ภาคประชาสังคม เอกชนและ โรงพยาบาล และการจัดบริการทางสังคมควรเป็นไปในลักษณเคลื่อนไปหาผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัย และมีระบบช่วยเหลือการเข้าถึงอย่างครบวงจร และปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยยังชีพให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนบั้นปลายของชีวิต...//
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor