นิยามกลุ่มประชากรเฉพาะ
ตามนิยามของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ความหมาย “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” จากแผนการดำเนินงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างสริมสุขภาพ (สสส.) (อ้างอิงจาก แผนการดำเนินงาน ประจำปี 2565 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)
ได้ให้ความหมายว่า ประชากรบางกลุ่มที่มีทั้งความเปราะบาง (Vulnerability) มีความเสี่ยง (Risk) หรือต้องการกระบวนการพิเศษในการเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะ อันถือเป็นปัจจัยส่งผ่านสังคมกำหนดสุขภาพ ที่ทำให้สูญเสียสุขภาวะ เข้าไม่ถึงบริการ และไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวม และในปัจจุบัน
การดำเนินงานของแผนประชากรกลุ่มเฉพาะของกองทุนสนับสนุนการสร้างสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงที่ผ่านมาได้สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรมทางสุขภาพในกลุ่มประชากรเฉพาะกลุ่มต่าง ๆ ที่มีสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพอย่างชัดเจน และยังคงมีประชากรกลุ่มเฉพาะบางส่วนที่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อการมีสุขภาวะที่ดี เพื่อนำมาสู่การวางยุทธศาสตร์แนวทางการดำเนินงานในอนาคตอย่างเหมาะสมต่อไป
สภาพปัญหาของกลุ่มประชากรเฉพาะมีรายละเอียดของแต่ละกลุ่มดังนี้
กลุ่มคนพิการ
ในความเป็นจริงสภาพปัญหาและสถานการณ์ของคนพิการ พบว่า
1) ปัญหาด้านการจดทะเบียนคนพิการ คือ ผู้ดูแลคนพิการ ไม่ต้องการเปิดเผยให้ชุมชนรับทราบถึงความพิการของบุตรหลานหรือญาติ ตนเอง นอกจากนี้ผู้ปกครองบางรายมีความหวังว่าคนพิการที่อยู่ในความดูแลจะหายจากความพิการได้ หรือประสบปัญหาในการเดินทางนำคนพิการมาจดทะเบียนคนพิการ บางคนขาดแพทย์รับรองความเจ็บป่วย ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ได้ หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคม (อพม.) บางส่วนไม่ปฏิบัติอย่างจริงจังในการเข้าถึงคนพิการในชุมชนจึงทำให้คนพิการบางคนถูกทอดทิ้งและถูกละเลย ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย และ ผู้ช่วยคนพิการมีจำนวนน้อย
2) ปัญหาด้านการศึกษาของคนพิการ คือ คนพิการส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาระดับพื้นฐาน ประมาณ ป.6 ผู้ที่ได้รับการศึกษานี้ ส่วนใหญ่ศึกษามาก่อนประสบปัญหาความพิการ ส่วนผู้ที่พิการมาแต่กำเนิดมักไม่ค่อยได้รับการศึกษา หรือได้รับการศึกษาก็อยู่ในระดับต่ำ หรือสถานศึกษาสำหรับคนพิการมีจำนวนน้อย และมักอยู่ในเมืองและชุมชน จึงทำให้คนพิการที่อยู่ในชนบทไม่สะดวกในการเดินทางมาศึกษา
3) ปัญหาด้านการประกอบอาชีพของคนพิการ คือ สภาพงานของคนพิการโดยทั่วไปเป็นงานที่ไม่ใช้ทักษะมากนัก เช่น รดน้ำต้นไม้ แล่ปลา ผ่าหอย เด็ดหมึก หรือทาการเกษตรต่าง ๆ เป็นต้น รวมทั้งเจตคติของสังคมยังไม่เอื้อต่อการประกอบอาชีพองคนพิการ คือ ไม่คาดหวังการทางานของคน พิการมากนัก เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการทำงานต่ำ น่าเวทนาสงสาร นอกจากนี้ตลาดแรงงานหรือองค์กร หน่วยงานส่วนใหญ่ไม่ต้องการรับคนพิการเข้ามาทำงานเพราะเห็นว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ บางหน่วยงานยินดีที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แทนการรับคนพิการเข้ามาทำงาน
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบกับคนพิการ ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ เนื่องจากคนพิการมีภูมิต้านทานน้อยจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป อีกทั้งการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพทุกรูปแบบเป็นไปได้ยากเพราะความจำกัดของร่างกายการเดินทางลำบาก และอาจมีภาวะความยากจนร่วมด้วย ด้านเศรษฐกิจ พบว่าสถานประกอบการมักเลิกจ้างคนพิการก่อนพนักงานทั่วไป คนพิการที่ประกอบอาชีพอิสระ ส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เช่น การนวด ขายลอตเตอรี่ ส่งผลให้ขาดแคลนรายได้ไม่สามารถจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันตนเอง ในด้านสังคม เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากเดิมมีการรวมกลุ่มทำงาน สร้างอาชีพ กลายเป็นถูกจำกัดให้อยู่ในบ้าน ส่งผลต่อความเครียด ซึมเศร้า การลดทอนคุณค่าในตัวเอง และยังทำให้คนพิการส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเพื่อเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีมากขึ้นด้วย
2. กลุ่มผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น และผู้สูงอายุเป็นประชากรที่หวังพึ่งพาสวัสดิการสังคมจากรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้สูงอายุควรได้รับ ผู้สูงอายุมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ เช่น ด้านการแพทย์และ สาธารณสุข ด้านการช่วยเหลือเงินเบี้ยยังชีพ ด้านการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย อาหารและ เครื่องนุ่งห่ม ด้านกองทุนผู้สูงอายุ ด้านการศึกษา การศาสนาและข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น
ในปัจจุบันสถานภาพของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ไม่ได้ทํางานแล้ว และมีอาการเจ็บป่วย โรคของผู้สูงอายุที่พบมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจําวันของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดํารงชีวิตหลากหลายประเภท สัมพันธภาพในครอบครัวของผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัวมีความสนใจเอาใจใส่ซึ่งกัน และกันน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว และอาจเป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ในชนบททั่วไปยังพบว่าผู้สูงอายุบางรายยังต้องรับภาระเลี้ยงดูหลานที่พ่อแม่เข้าไปทำงานเมือง และนำมาอยู่กับปู่ย่าตายาย หากมีปัญหาเรื่องรายได้ จะทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น
3. กลุ่มคนไร้บ้าน
สถานการณ์คนไร้บ้านจะพบในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะ กทม. แต่ปัจจุบันสถานการณ์คนไร้บ้านคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น คนไร้บ้านส่วนใหญ่ที่พบ คือมีงานทำแต่ไม่อยากอยู่บ้าน กับคนที่ไม่มีบ้านอยู่จำนวนหนึ่ง ในเมืองใหญ่ๆ หรือเมืองหลัก เช่น กทม. ขอนแก่น เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจดี ค่าครองชีพสูง จะพบคนไร้บ้านเป็นจำนวนมากกว่าในชนบท หรือเมืองเล็กๆ หรือคนไร้บ้านที่มาจากต่างจังหวัดที่มาหางานในเมืองใหญ่ แต่ไม่มีที่อยู่ เป็นต้น
คนไร้บ้านอีกจำนวนหนึ่งที่อาจไม่ถึงกับไร้บ้าน แต่สภาพที่บ้านไม่เป็นบ้าน คือบ้านไม่สมประกอบ กันฝนไม่ได้ แต่กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือในชุมชนในการสร้างบ้านให้ใหม่
ความเปราะบางของคนไร้บ้านที่พบ ได้แก่ การไม่มีสถานะทางทะเบียนทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ การไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยทุกประเภท การมีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ผลจากสถานการณ์การระบาดโรโควิด-19 กลุ่มคนไร้บ้าน ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ประกอบอาชีพ เก็บของเก่า รับจ้างทั่วไป ซึ่งโดยลักษณะอาชีพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่มักจะอาศัยอยู่ในเขตชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย และยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ และปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงนับเป็นกลุ่มที่มีความยากลำบากที่สุดกลุ่มหนึ่งในสถานการณ์เช่นนี้
4. กลุ่มแรงงานนอกระบบ
แรงงานนอกระบบ หมายถึง กลุ่มผู้ที่ใช้แรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ทางานโดยไม่มีสัญญาจ้างหรือ ไม่มีนายจ้างตามกฏหมายแรงงานหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระและไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่มีหลักประกัน ทางสังคมจากการทางาน และไม่มีค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่แน่นอน เช่น แรงงานนอกระบบมักจะมีชั่วโมงการทำงานที่ค่อนข้างสั้น และได้รับค่าแรงเป็นรายชั่วโมงหรือรายวันโดยไม่มีสัญญาที่เป็นทางการ กล่าวคือ แรงงานนอกระบบมักมีรายได้ที่ค่อนข้างต่ำและไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลให้มีเงินออมไม่เพียงพอ ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ทำให้แรงงานนอกระบบมีความเปราะบาง และยิ่งมีความเปราะบางสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งแรงงานนอกระบบเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกให้ออกจากงาน ดังนั้น หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญ คือ การทำให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยการเร่งสนับสนุนหรือจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ภาคแรงงานในระบบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบมักจะอาศัยอยู่ในเขตชนบท ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและงานในระบบได้น้อยกว่า ดังนั้น นโยบายเพื่อสร้างโอกาสการจ้างแรงงานในระบบในเขตชนบท เช่น โครงการจูงใจให้บริษัทตั้งสาขาบริษัทและโรงงานนอกเมือง อาจช่วยให้ปัญหาการเข้าถึงระบบบรรเทาลงได้ (ที่มา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์)
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อแรงงานนอกระบบในเรื่องการขาดหลักประกันทางรายได้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ ถึงแม้ภาครัฐจะให้การช่วยเหลือแต่ยังเป็นกลุ่มที่ประสบความยากลำบากอยู่
5. กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สถานการณ์ชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง
ประเทศไทยได้เคยประกาศคำมั่นในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มีสาระสำคัญประกอบด้วย 7 ประเด็น ดังนี้
1. ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ
2. ยกระดับการให้การคุ้มครองทางสังคมแก่คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
3. ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพิจารณา สัญชาติ และสิทธิความเป็นพลเมือง เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาสถานะให้สามารถเข้าถึง อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
4. พัฒนาประสิทธิภาพของระบบที่จะอำนวยความสะดวกให้คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติเข้าถึงบริการของสำนักทะเบียน ได้สะดวกยิ่งขึ้น
5. เร่งรัดการขจัดภาวะความไร้รัฐในกลุ่มผู้สูงอายุไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
6. พัฒนาความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริม ความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ สิทธิ และการดำเนินการ ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนเกิดและทะเบียนราษฎรของคนไร้รัฐ
ไร้สัญชาติ โดยเฉพาะประชากรในพื้นที่เข้าถึงยาก
7. พัฒนาความร่วมมีอระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในการร่วมแก้ปัญหา คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นพันธกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐ และไร้สัญชาติ หากประเทศไทยได้ทำตามประกาศคำมั่นนี้จะสามารถลดภาวะการไร้รัฐและไร้สัญชาติได้
ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความหายคำว่าไร้รัฐและไร้สัญชาติที่แตกต่างกัน โดยที่ไร้รัฐหมายถึงคนที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบทะเบียนราษฎร์ ส่วนไร้สัญชาติหมายถึงบุคคลาไร้รัฐที่ขึ้นทะเบียนในระบบทะเบียนราษฎร์และมีเอกสารแสดงตน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและอื่นๆ
6. กลุ่มแรงงานข้ามชาติ
ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเกิดจากความต้องการแรงงานในประเทศไทยที่สูงขึ้นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาในประเทศโดยอาศัยนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต การลักลอบเกิดตามชายแดนประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมารวมไปถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ COVID-19 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ของโควิด COVID-19 ได้แก่การลักลอบผ่านเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายโดยไม่ผ่านการคัดกรองโรคการอาศัยอยู่กันอย่างแออัดและขาดสุขอนามัยที่ดี ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายควรมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐภาคเอกชนและประชาชนในการแก้ปัญหาการแก้ปัญหาควรประกอบด้วยการป้องกันปราบปรามการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย การนำแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ รวมไปถึงสิทธิด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ
ในปัจจุบันมีความพยายามจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐภาคธุรกิจองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความพยายามในการดำเนินงานพัฒนากลไกและเครื่องมือสื่อสารหลายรูปแบบเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตแต่ยัง พบว่า มีรายงานข้ามชาติบางส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเข้าไปถึงบริการสุขภาพเนื่องจากมีข้อจำกัดในทางกฎหมาย
7. กลุ่มมุสลิมไทย
ความหมายของสำนัก 9 สถานการณ์มุสลิมไทยเป็นความหมายที่กว้างมาก แต่ในการศึกษาของโครงการนี้ เราจะเน้นสถานการณ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบนับตั้งแต่ปี 2547 ที่สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้น ผลกระทบที่สั่งสมจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรง ส่งผลให้มีจำนวนผู้หญิงหม้ายและเด็กกำพร้าสูงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน บ้างทุพพลภาพ บ้างเกิดปัญหาสุขภาพจิต เด็กและผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต่างต้องเผชิญกับภาวะเหล่านี้จากการสูญเสียเสาหลักของครอบครัว จนกระทบไปถึงปัญหาด้านการศึกษาและการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต
หากมองเฉพาะประเด็น ‘เด็กกำพร้า’ ก็นับว่าเป็นปัญหาที่ยากจะรับมือไหวสำหรับเด็กและเยาวชน แต่เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยความรุนแรงจากสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งทำให้ปัญหานั้นทบทวีมากยิ่งขึ้น
ความรุนแรงจากเหตุความไม่สงบส่งผลให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งสูญเสียสามีและกลายเป็นหม้ายมีจำนวนมากขึ้นกว่าปกติอย่างมาก ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในช่วงระหว่างมกราคม 2547 – ธันวาคม 2563 มีหญิงหม้ายจากสถานการณ์ความไม่สงบฯ จำนวน 3,132 คน แบ่งเป็นจังหวัดนราธิวาส 848 คน ปัตตานี 1,238 คน ยะลา 917 คน และสงขลา 129 คน เนื่องด้วยความเปราะบางที่มีอยู่ก่อนหน้าวิกฤตนี้ ผู้หญิงต้องรับผิดชอบครอบครัวมีความยากจนและยากลำบากยิ่งขึ้น ครอบครัวขาดรายได้และไม่สามารถประกอบอาชีพส่งผลต่อคุณภาพการดูแลเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาภาวะอดยาก ความพิการ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ศาสนาอิสลาม เป็นคำสอนที่ครอบคลุมทุกมิติทุกแง่มุมแห่งการดําเนินชีวิต การศึกษาใน ทัศนะอิสลามนั้นเป็นวิถีชีวิต (Way of Life) ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทักษะจากชนรุ่นหนึ่งไปยัง อีกรุ่นหนึ่ง แต่ในอิสลามการศึกษามีความหมายที่กว้างและครอบคลุมทุกด้านการศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางโลก และทางธรรม เป็นการอบรม ขัดเกลา จิตใจ บ่มเพาะสติปัญญา ร่างกาย และจิตวิญญาณ
เมื่อเกิดการเจ็บป่วย มุสลิมจําเป็นต้องเข้ารับบริการในระบบบริการสาธารณสุขอันเป็นมาตรฐานของรัฐ ในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติตามหลักศรัทธา และหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามด้วย เนื่องจากหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามในประเด็น เรื่อง “ฮาลาล” คือ สิ่งที่ศาสนาอนุมัติ และ “ฮารอม” คือ สิ่งที่ศาสนาห้ามหรือไม่อนุมัตินั้น มิได้เป็นเพียง บทบัญญัติที่มุ่งหมายเฉพาะกระบวนการผลิตสินค้า ประเภทอาหารเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงทุกมิติของการดําเนินชีวิต รวมถึงการบําบัดรักษาโรคเมื่อ เกิดการเจ็บป่วยด้วยโดยแนวทางการบําบัดรักษาโรค การส่งเสริมสุขภาวะ การฟื้นฟูสุขภาพ และ การป้องกันโรคต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของหลักการศาสนา
ผู้ป่วยมุสลิมบางรายโดยเฉพาะผู้ที่เคร่งครัด ในหลักธรรมคําสอนของศาสนา แม้ว่าจะป่วยหนัก ก็ไม่ยอมเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ เนื่องจาก ไม่ต้องการกระทําอันใดที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติตนผิด หลักการศาสนา เพราะโรงพยาบาลรัฐไม่ได้เตรียม หรือตอบสนองต่อความต้องการในการปฏิบัติศาสนกิจหรือการดําเนินกิจกรรมทางศาสนาในระหว่างการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล
โดยมุสลิมไทย ในแต่ละพื้นที่มีภูมิหลังทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า คุณภาพชีวิตของมุสลิมไทยหลายดัชนีด้อยกว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ยในประเด็นหลักคือ ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา รวมถึงปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มุสลิมไทยจำนวนหนึ่งยังคงมีปัญหาความไม่เข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพการปฏิบัติตัวที่มัสยิดมีหลายกิจกรรมที่สร้างการรวมกลุ่ม และความผูกพันใกล้ชิดทางสังคมผ่านการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การละหมาดรวม การละหมาดวันศุกร์ การจับมือทักทาย งานประจำปีของมัสยิด ตลอดจนงานบุญต่างๆกิจกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบ และมีโอกาสเสี่ยงในการแพร่และรับเชื้อคน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ และรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
8. กลุ่มผู้หญิง
ในสังคมปัจจุบันสตรีจะมีบทบาทมากขึ้นในทางด้านเศรษฐกิจด้านสังคมและการศึกษาและมีอาชีพที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจแต่ก็ยังมีผู้หญิงในสังคมไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวสตรีที่ต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีฐานะยากจนขาดที่พึ่งและไม่มีรายได้ที่แน่นอน โดยเฉพาะสตรีที่ยากจนมีโอกาสจะถูกล่อลวงชักจูงถูกข่มขู่เข้าสู่การค้าประเวณีการค้ามนุษย์หรือการแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ได้สตรีในสถานะดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากชุมชนต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น
9. กลุ่มผู้ต้องขังหญิง
โครงการกำลังใจเป็นโครงการที่มีดำริมาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มผู้ที่ก้าวพลาดทำให้ชีวิตต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและผู้ขาดโอกาสกลุ่มอื่น ๆ ให้สามารถมีโอกาสกลับมาดำรงชีวิตเป็นคนดีของสังคมได้อย่างปกติสุข โดยส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม อาทิ กลุ่มผู้ต้องขังสตรี กลุ่มเด็กติดผู้ต้องขัง กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดและกลุ่มผู้ขาดโอกาสอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรม
โดยแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 คือ การอบรมตามหลักสูตรของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก
ระยะที่ 2 คือ การให้ Treatment หรือการใส่วิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ฐานความคิดความเชื่อของผู้ต้องขัง รวมทั้งประชาชนในรอบ ๆ ชุมชนที่ผู้ต้องขังจะกลับไปพักอาศัยภายหลังพ้นโทษมีความเชื่อมั่นและน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตอย่างยั่งยืน
ระยะที่ 3 คือ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยที่จะต้องมีการประสานระหว่างกรมคุมประพฤติกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะให้โอกาสผู้ต้องขังเหล่านี้
ระยะที่ 4 คือ การดูแลภายหลังปล่อยหรือ Aftercare ที่จะต้องมีการติดตามและให้ความช่วยเหลือรวมทั้งเน้นให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษจากเรือนจำไปแล้วยังเข้าใจเสมอว่า กรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติเป็นที่พึ่งได้เสมอแม้ว่าจะออกจากเรือนจำไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงด้วยภารกิจงานที่มาก อัตรากำลังที่จำกัด กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปแล้วสามารถที่จะตั้งตัวได้ จึงทำให้โครงการในพระดำริในพระเจ้าหลานเธอฯ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยจะมีการจัดตั้งกองทุนและจัดตั้งระบบสหกรณ์ เพื่อให้มีการยืมเงินเพื่อไปประกอบอาชีพ และมีระบบออมเงินขณะอยู่ในเรือนจำ
ต่อมาเมื่อมีข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิงที่จะต้องพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยังทรงมีพระวินิจต่อการดำเนินงานโครงการกำลังใจฯ ในโอกาสจากนี้ต่อไปภายหลังที่ "ข้อกำหนดกรุงเทพ" ประกาศใช้ว่า ต้องยึดหลักของการที่จะทำให้ผู้ต้องขังหญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งดำเนินกิจกรรมหรือโครงการที่มากกว่าการสร้างกำลังใจระยะสั้น และทรงประทานว่าเป็น "การให้กำลังใจเชิงลึก"
10. กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ปัญหาบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมีสาเหตุมาจากแนวคิดเรื่องเพศที่ยึดติดกับความเป็นเพศทางกายภาพเพียง 2 เพศ คือเพศหญิง และเพศชาย ทำให้กลุ่มที่มีเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ หรือกลุ่มคนที่ดำเนินชีวิตแบบหลากหลายเพศถูกมองว่าผิดปกติ
บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านต่างๆ ไม่มีสิทธิ์ในการเข้าทำงาน การใช้บริการในพื้นที่สาธารณะที่มีการจำแนกเพศชายหญิง การระบุถึงตัวตนหรือเพศในทางกฎหมาย การแต่งกาย เป็นต้น
ได้มีการออกข้อกำหนดของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นผู้รับสวัสดิการสังคมพ.ศ 2555 ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมฉบับที่ 2 พ.ศ 2546 ระบุว่า “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งใน 13 กลุ่มประชากรที่เผชิญความยากลำบาก”และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือพิเศษในการเข้าถึงบริการทางสังคม
สถานการณ์กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศได้พยายามผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ โดยฉบับแรก คือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกเสนอขึ้นเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้การสมรสทำได้แค่เฉพาะ “ชาย-หญิง” ตามเพศที่ระบุในทะเบียนราษฎรเท่านั้น โดยแก้ไขเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องเพศในการสมรส ไม่ว่าจะเป็น “บุคคล” เพศใด ก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้ ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และมีสถานะเป็น “คู่สมรส” ตามกฎหมาย และ อีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ... โดยที่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีรายละเอียดดังนี้
คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามกำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพ.ร.บ. นี้
การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ้ายหนึงมีสัญชาติไทย รวมทั้งกำหนดบุคคลต้องห้ามไม่ให้จดทะเบียนคู่ชีวิต เช่น ทั้งสองคนเป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เป็นพีน้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา เป็นต้น
กรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล และเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิตแล้วผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ
กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับลักษณะความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต เช่น ต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป. วิ อาญา)
ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต แบ่งเป็นสินส่วนตัวและทรัพย์สินร่วมกัน
การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต คู่ชีวิตย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดเหตุฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต เช่น คู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต ประพฤติชั่ว ทำร้าย ทรมานร่างกายหรือจิตใจ จงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
บุตรบุญธรรม เมื่อคู่ชีวิตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. นี้ และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) แล้ว สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้
เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยมรดก
กำหนดให้นำบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยคู่สมรสครอบครัวและบุตรบุญธรรมมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลมในบางกรณี
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor