“จุดเริ่มจากศูนย์ แต่ไม่ใช่ 0” จังหวัดพิจิตร
ผู้สูงอายุ (ที่ถูกทอดทิ้ง)

“จุดเริ่มจากศูนย์ แต่ไม่ใช่ 0” จังหวัดพิจิตร

จากการลงพื้นที่ทำงานสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชน ด้านผู้สูงอายุ ได้พบศูนย์กายภาพอุปกรณ์ในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอวิชรบารมี จังหวัดพิจิตร

“จุดเริ่มจากศูนย์ แต่ไม่ใช่ 0” จังหวัดพิจิตร 

        จากการลงพื้นที่ทำงานสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชน ด้านผู้สูงอายุ ได้พบศูนย์กายภาพอุปกรณ์ในพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอวิชรบารมี ซึ่งตอนแรกที่ไปดูก็ไม่แปลกตาอะไรคิดว่าเป็นศูนย์ที่ราชการมีงบมาให้จัดตั้งแบบทั่วไปที่เคยเจอในหลายพื้นที่ เป็นจุดซ่อม จุดแจกอุปกรณ์แบบทั่วๆ ไป

        แต่พอได้เข้าไปพูดคุยและลงไปทำงานร่วมในหลายครั้ง ศูนย์กายภาพอุปกรณ์ไม่เป็นดังภาพความทรงจำเดิมที่เคยมีมา ศูนย์กายอุปกรณ์นี้ตั้งอยู่ในบริเวณของวัดบ้านนา อ.วชิรบารมี คนทำงานในศูนย์เป็นพระ เรียกได้ว่าเป็น “ศูนย์พระทำ” ของแท้แน่นอนเลทีเดียว เพราะพระท่านเป็นผู้ดำเนินการทำงานเองกับมือของท่านทุกชิ้นที่เป็นอุปกรณ์ในศูนย์ ยกตัวอย่างเช่น วีลแชร์ ราวจับ สามขาช่วยเดิน วอร์คเกอร์ เตียงนอนผู้ป่วย เก้าอี้นั่งถ่าย ห้องสุขาเคลื่อนที่ เป็นต้น พระท่านเล่าว่าจุดเริ่มคือ ไปบอกบุญโรงพยาบาล รพ.สต. ในเขตพื้นที่ ขออุปกรณ์ที่ชำรุด เช่น เตียงคนป่วย รถเข็น ที่ชำรุดเสียหายแล้วพร้อมจำหน่วยออก ก็ขอบิณฑบาตขอมา พอได้มาก็นำมาซ่อม ถอดอะไหล่จากอันนี้ ไปเปลี่ยนใส่อันนั้น สลับสับเปลี่ยนกันไป ซ่อมให้ดีให้ใช้ได้แต่ก็อาจไม่เท่าของใหม่ เตรียมไว้เพื่อแจกจ่ายให้ญาติโยมที่มีความยากลำบากมาขอไปใช้ ยากลำบากในที่นี้ก็คือ ต้องยากจนจริงๆนะ ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะซื้อหาอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ได้ (ซึ่งพระท่านจะเรียกผู้ยากลำบากที่มาขอเรียกว่าลูกค้า) ส่วนใหญ่ลูกค้าของพระอาจารย์ก็จะเป็นครอบครัวยากจนที่ต้องเลี้ยงดูผู้พิการในครอบครัว ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่เริ่มอ่อนแรงไม่สามารถเดินได้ จะเริ่มเข้าสู่ภาวการณ์ติดเตียง ลูกหลานก็เป็นวัยแรงงานหาเช้า เพื่อมาใช้จ่ายกินค่ำนั่นเอง

        แต่ที่น่าทึ่งของการทำงานของศูนย์กายภาพอุปกรณ์ที่วัดบ้านนานี้ คือ กระบวนการทำงานของทีมพระทุกท่าน เรียกได้ว่าถึงลูกถึงคนของจริง พระอาจารย์จะลงพื้นที่ไปในหมู่บ้านถ้ามีคนร้องของมาพระท่านจะเดินทางพร้อมอุปกรณ์ ลงไปดูที่บ้านของผู้ที่ร้องขอเลย ไปดู 1 ยากลำบากจริงหรือไม่ การเป็นอยู่ อยู่อย่างไร อุปกรณ์ที่จะเอาไปใช้เหมาะสำหรับคนๆ นั้นหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่นการไปช่วย นางติดตะลิดติดตี่ (นามสมมุติ) พระอาจารย์จะดูทุกอย่างตั้งแต่บริเวณที่จะตั้งเตียงมีอากาศถ่ายเทให้คนป่วยนอนได้สบายดีมั้ย ร้อนเกินไปจนคนป่วยนอนไม่ได้หรือเปล่าก็ต้องพูดคุยสื่อสารกับโยมผู้ดูแลขอปรับขอเปลี่ยนไปวางที่เหมาะสม ขนาดของเตียงนอนสูงไป ต่ำไปมั้ยเหมาะกับผู้ที่เป็นคนดูแล เรียกได้ว่าใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง และพระท่านจะประเมินแบบนี้ในทุกคนที่มาขออุปกรณ์ไปใช้ 

        ความรวดเร็ว ในการช่วยเหลืออันนี้ก็ต้องยกให้ ขอมาเช้าถ้าอยู่ใกล้ ขอเช้าได้เช้า ถ้าอยู่ไกล ขอมาเช้าบ่ายพระอาจารย์จะเดินทางไปถึงบ้านแล้ว หรือไม่อย่างช้าก็แค่ผ่านไปชั่วข้ามคืน ถ้าเป็นเขตในจังหวัดพิจิตร แต่ถ้าเป็นกรณีต่างจังหวัดก็แล้วแต่ระยะทางความใกล้ไกลของพื้นที่จังหวัด อันนี้เป็นสิ่งที่พระอาจารย์บอกว่า “เราต้องรีบดำเนินการซิ ถ้าไม่รีบเกิดเค้าหนีเราไปหรืออาจเป็นเราก็ได้ที่ที่หนีเค้าไป ไม่รู้ใครจะไปก่อนกัน ความตายคือทุกคนต้องตายแน่นอน แต่วันตายไม่มีใครรู้ได้อย่างแน่นอน ทำไมต้องให้รอ ถ้ามีของพร้อมอยู่ไปเลย หรือถ้าของยังไม่พร้อมก็ต้องเร่งผลิตทำให้มีและพร้อมไป

        ล่าสุดเป็นความท้าทายของทีมพระอาจารย์และศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัดพิจิตร (ศปสจ.พิจิตร) ที่ประสานงานช่วยเหลือผู้ยากลำบาก ที่ไร้บ้าน และไร้ญาติ มาอาศัยอยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติ เราลงพื้นที่ไปดูแล้วมีความเห็นร่วมกันว่าต้องการช่วยเหลือเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ เดิมที่แกอยู่ไม่รู้จะเรียกกว่าอะไร ขอเรียกว่าเป็นเพิงจะได้มั้ยไม่รู้ (ช่วยกันดูจากรูปแล้วตั้งชื่อ) ภายในมีที่กางมุ้งนอนนิดหน่อยและมีที่ตั้งหม้อข้าวอีกนิดหน่อย พื้นอยู่ต่ำๆ สูงจากดินนิดหน่อย เสาที่สร้างเป็นเสาไม่ยูคา ไม่สะเดาขนาดไม่ใหญ่มาก รอบตัวบ้านล้อมด้วยสังกะสีรอบด้าน รวมทั้งหลังน่าจะมีสังกะสีรวมกันราว 10 กว่าแผ่นโดยประมาณ 

        อยู่บ้านแบบนี้ลุงแกบอกยังไม่ทุกข์กาย เท่าทุกข์ใจด้วยร่างกายที่เจ็บป่วยออกทำมาหากินไม่ได้ และถูกครอบครัวหนีหายไป ตนเองไม่ใช่คนพิจิตรเป็นคนกำแพงเพชรร่อนเร่มาอยู่พิจิตร มาอาศัยอยู่กับน้องของเฒ่าแก่ ที่เคยเป็นเจ้านายเก่าของลุง มาฝากน้องชายเฒ่าแก่ช่วยเลี้ยงดูไว้ (อาจจะดูงงๆ ในตรงนี้ แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ) ลุง(ผู้ยากไร้) --- เคยทำงานกับเฒ่าแก่ (เฒ่าแก่ คือคนที่นำมาฝาก) นำมาฝาก---- น้องของเฒ่าแก่เอง (คือคนที่รับเลี้ยงปัจจุบัน) โดยไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติใดๆ กันมาก่อน รับเลี้ยงไว้ ปลูกเพิงให้อาศัยอยู่ในที่ดิน ที่ด้านหลังบ้าน และหุงข้าวทำกับข้าวส่งให้กินในทุกๆ วัน 

        ทางศูนย์กายอุปกรณ์ พระอาจารย์ ลงไปเยี่ยมและไปสร้างห้องน้ำไว้ให้ลุงได้ใช้แล้ว แล้วเมื่อเดือน พ.ค. 66 นี้ ทางศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัดพิจิตรได้ร่วมลงไปสำรวจข้อมูลผู้ยากลำบาก ยากไร้ ได้ลงไปดู และประสานงานมายังนายวิศิษฎ์ อภิสิทธิ์วิทยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ในเรื่องการขอสนับสนุนการปรับปรุง หรือสร้างบ้านให้แก่ลุง(ผู้ยากลำบาก) ทำไมต้องสร้างบ้าน เพื่อที่ให้ลุงยังรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งไปทั้งหมดจากโลกไปนี้ อย่างน้อยก็ยังมีคนในสังคมที่คอยเกื้อหนุนกันอยู่ ขอให้ลุงมีแรงต่อสู้กับโรคที่รุมเล้า ทุกข์ใจก็เพียงพอแล้ว ขอให้แกได้มีที่อาศัยอยู่ร่ม อยู่เย็นในบ้านที่ปลอดภัยบ้างก็ยังดี 

               

               อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องราวของการทำงานที่เรียกว่าศูนย์ (กายอุปกรณ์)  แต่งานที่พระท่านทำ และชวนผู้คนลงไปทำ นั้นไม่ใช่ศูนย์เลย แต่กับมีคุณค่ามากว่าศูนย์ ไม่รู้ว่าเรียกว่าเป็นร้อยเท่าพันเท่าจะพอหรือเปล่า 

เรื่องเล่า เล่าเรื่องจากพื้นที่ วรารัตน์ หมวกยอด  16/5/2566 


Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor