“น้องนุ่น เสาหลักของครอบครัว” จังหวัดพิษณุโลก
ถือเป็นการดำเนินงานตามกรอบแผนงานในโครงการปีที่ 3 ในด้านการเยี่ยมติดตามผล หลังจากที่ได้มีการช่วยเหลือเด็กจากโครงการ ABE ปีที่ 1-2 และ จากทุนช่วยเหลือเด็กวิกฤตทางการศึกษา รุ่นที่ 1-4 ซึ่งครั้งนี้ได้เลือกลงพื้นที่อำเภอวังทอง เบื้องต้นได้ประสานงานกับทางเครือข่ายจิตอาสา ซึ่งทำหน้าที่เป็น CM อำเภอวังทอง เพื่อคัดเลือกเคสเด็กที่มีความพร้อมในการให้ลงไปติดตาม
นางวิจิตรา อุปชัย ครู กศน.อำเภอวังทอง และ ทำหน้าที่เป็น CM อำเภอวังทอง แจ้งรายชื่อเคสเด็กที่ต้องการให้ลงมาเยี่ยมติดตาม ได้แก่ “น้องนุ่น” นางสาวภริดา แช่มเงิน อายุ 18 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ กศน.ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ตอนต้น (ม.3) ซึ่งได้รับทุนภาวะวิกฤติทางการศึกษา จาก กสศ. ทั้งนี้มี นายรุ้งภูธร ภาศรี หัวหน้ากลุ่มการสอน กศน.อำเภอวังทอง ร่วมเป็นผู้ให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับการลงพื้นที่เยี่ยมติดตามเคสเด็กครั้งนี้มี นางสาวฐานิดา บุญวรรโณ นักวิจัยและอาจารย์ จาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัย จาก กสศ. ในการวิจัยเรื่องครอบครัวแหว่งกลาง พื้นที่จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังมีคณะผู้สื่อข่าวจาก สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 4 พิษณุโลก หรือ ช่อง NBT 11 ได้ลงติดตามร่วมบันทึกรายการข่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วงแรก เป็นการเยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนการสอนภายใน กศน.ตำบลวังนกแอ่น โดยมีคณะครูผู้สอน กำลังทำการสอน ทางทีมโครงการ ABE พิษณุโลก นักวิจัย และคณะผู้สื่อข่าว จึงได้ขอสังเกตการณ์การเรียนการสอน
จากนั้น คณะผู้สื่อข่าว จาก NBT 11 จึงขอสัมภาษณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ในที่นี้คือ กรณีของ น้องนุ่น ซึ่งผู้ที่ให้ข้อมูล มีดังนี้
- นางวิจิตรา อุปชัย ครู กศน.อำเภอวังทอง และ เป็น CM ที่ได้มีการทำข้อมูลในการเยี่ยมบ้านเด็กที่เรียน กศน. พบว่า น้องนุ่น มีความยากลำบากกว่าเพื่อนในชั้นเรียน จึงได้ส่งต่อข้อมูลมายัง สมาคมสุขปัญญา เพื่อขอทุนในการช่วยเหลือ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานอื่น ที่สามารถช่วยเหลือน้องได้
- นางสาวเพ็ญพร ตั้งปฏิการ ผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จ.พิษณุโลก และผู้แทนจาก สมาคมสุขปัญญา ถึงที่มาที่ไปของดำเนินงานด้านการสร้างความเสมอทางการศึกษา กรอบแนวคิดการดำเนินโครงการ และแนวทางในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก รวมถึงการเชื่อมประสานงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ในการส่งจ่อข้อมูลจนนำไปสู่การช่วยเหลือเด็ก
- นายรุ้งภูธร ภาศรี หัวหน้ากลุ่มการสอน กศน.อำเภอวังทอง ได้ให้ข้อมูลในด้าน บทบาทของ กศน. ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ ด้านการส่งเสริมการศึกษาเด็กในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายต่อปี อยู่ที่ประมาณอย่างน้อย 40 คน ซึ่งกรณีที่พบเจอเด็กที่มีฐานะยากจน จะทำการจัดทำเป็นข้อมูล เพื่อหาทางส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาช่วยเหลือ
- เพื่อนร่วมชั้นเรียน กศน. โดยเป็นการสอบถามถึงพฤติกรรม อุปนิสัย และความตั้งใจในการเล่าเรียนของน้องนุ่น ซึ่งเพื่อนได้ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า นุ่นมีความเพียรพยายามดีมาก มีความตั้งใจในการเล่าเรียน และมีผลการเรียนที่ดีด้วยเช่นกัน รวมถึงเป็นที่รักของเพื่อนทุกคน
สภาพความยากลำบาก
น้องนุ่น อายุ 18 ปี อาศัยอยู่กับพ่อ อายุ 35 ปี สภาพพิการท่อนล่าง ต้องขับถ่ายทางช่องท้อง จากเหตุการณ์การถูกยิง เมื่อตอนที่นุ่นอายุได้เพียง 9 เดือน หลังจากนั้นแม่ได้ทิ้งไป ทำให้ย่าต้องเป็นคนเลี้ยงดูนุ่น และดูแลพ่อเพียงลำพัง ปัจจุบันย่ามีอายุ 80 ปี สภาพร่างกายทรุดโทรมลงไปมาก โรครุมเร้า และเดินไม่ค่อยสะดวก ต้องใช้ไม้เท้าค้ำเพื่อพยุงตัว
น้องนุ่น เรียน กศน. ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นเทอมสุดท้าย โดยเป้าหมายจะศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นความตั้งใจของครูที่ปรึกษา หรือ CM ที่ดูแลน้องนุ่น (นางวิจิตรา) ที่ต้องการให้นุ่นเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพราะจะได้เพิ่มโอกาสให้กับตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือ นำวุฒิการศึกษาไปประกอบอาชีพต่อไป สามารถดูแลพ่อและย่าให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
นอกเหนือจากเวลาเรียน น้องนุ่น จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป แล้วแต่มีงานจ้างเข้ามา เช่น การทำงานในสวนผลไม้ สวนยาง การเก็บพืชผลทางการเกษตร และการทำงานเป็นกรรมการใช้แรงงานในงานก่องสร้าง ซึ่งจะอยู่ในเมืองพิษณุโลก ต้องขึ้นรถกับผู้รับเหมาเข้ามาในเมืองแต่เช้า และกลับบ้านในช่วงค่ำ แลกกับค่าแรง เพียงวันละ 300 บาท นำมาเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูพ่อพิการ และย่าที่ชราภาพ น้องนุ่นเปรียบเสมือนเสาหลักในการดูแลครอบครัว นอกจากดูแลพ่อ ต้องรับหน้าที่พาย่ามาหาหมอ ที่โรงพยาบาลวังทอง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 21 กิโลเมตร (ไปกลับ 42 กิโลเมตร) รายได้อื่นได้จาก บัตรผู้สูงอายุของย่า เดือนละ 700 บาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 300 บาท และบัตรผู้พิการของพ่อ เดือนละ 800 บาท ซึ่งไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในครอบครัว
สภาพที่อยู่อาศัย มีสภาพทรุดโทรมมาก เป็นเพียงเพิงไม้ ที่มีแผ่นยิปซัมและสังกะสี ปิดเป็นฝาผนังบ้าน ไม่มีประตู ไม่มีห้องน้ำ เวลานอนไม่ได้กลางมุ้ง เวลาต้องการอาบน้ำหรือทำธุระในห้องน้ำ ต้องไปขอเข้าบ้านย่า ซึ่งมีสมาชิกครอบครัวของลุง ป้า รวมกัน 10 ชีวิต ทั้งนี้รถจักยานยนต์ที่น้องนุ่นใช้ไปเรียนและทำงานนั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากเพื่อนบ้านที่เอ็นดู ให้ยืมใช้เวลาที่มีความจำเป็นในการเดินทาง
ความต้องการให้ช่วยเหลือ
- การปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัย
- การสร้างห้องน้ำ ที่ถูกต้องตามหลักอารยสถาปัตย์ เนื่องจากมีผู้สูงอายุและคนพิการอาศัยอยู่
- รถเข็นคนพิการคันใหม่ให้กับพ่อของนุ่น ซึ่งคันเดิมนั้น มีสภาพชำรุดลงไปมาก
- อาชีพที่มีความเหมาะสมกับคนพิการ ซึ่งพ่อของนุ่นมีความต้องการอยากได้อาชีพ เพื่อมีรายได้เพิ่มเติม นำมาช่วยเหลือลูก และทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
- ทุนการศึกษา หรือ ช่องทางการประกอบอาชีพให้กับน้องนุ่น
ในเบื้องต้นนั้น ทางโครงการฯ จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องที่เร่งด่วน เช่น การปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยและห้องน้ำ ทางด้าน กศน.อำเภอวังทอง จะหางานที่ไม่ต้องใช้แรงมาก มาให้พ่อของนุ่นได้รองทำ เช่น การทำพรมเช็ดเท้า ส่วนทางด้านผู้สื่อข่าว NBT 11 จะหางานมาให้น้องนุ่นได้ทำเพื่อหารายได้เพิ่ม เช่น การเป็นแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน เฉลี่ยบ้านละ 500 บาท/ครั้ง โดยจะประสานงานให้มาทำครั้งละ 2-3 หลังคาเรือน สัปดาห์ละครั้ง แต่น้องนุ่นต้องหาลู่ทางในการเดินทางเข้าเมือง เพื่อมาทำงาน เช่น นั่งรถโดยสารประจำทาง เพราะถ้าขับรถจักรยานยนต์ เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากที่บ้านมาในเมืองพิษณุโลก มีระยะทางค่อนข้างไกล
ส่วนทางด้านการบันทึกเทปรายการนั้น หลังจากมีการตัดต่อจนเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งมายังทีมงานโครงการโดยเป็นการส่งลิงก์รายการมาให้ พร้อมกับจะขอใส่รายละเอียดเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของทาง คุณเพ็ญพร ตั้งปฏิการ ผู้ประสานงานโครงการฯ ไว้บนรายการ เพื่อแสดงให้กับผู้ชมที่มีจิตศรัทธา ต้องการช่วยเหลือน้องนุ่น ให้ประสานติดต่อมายังทีมโครงการฯ หรือ ทีมงานสมาคมสุขปัญญา เพื่อเจรจาพูดคุยและประสานการรับการช่วยเหลือ ส่งไปยังน้องนุ่นต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีผู้คนสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในเคสต่างๆที่ทางช่อง NBT 11 ได้นำเสนอข่าวไป
สกู๊ป - ยุติจนข้ามรุ่น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
https://youtu.be/hnEq4i_Z-uA?si=Q8C6gol6pwW7khwS
ภาพบรรยากาศการเรียน กศน. (สัมภาษณ์ ครู กศน./ผู้ประสานงานโครงการ/บรรยากาศในห้องเรียน)
ช่วงแรก เป็นการสัมภาษณ์ นางวิจิตรา อุปชัย ครู กศน.อำเภอวังทอง ซึ่งเป็น CM ดูแลเคสน้องนุ่น รวมถึงการสัมภาษณ์ นางสาวเพ็ญพร ตั้งปฏิการ ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้ชี้แจงในเรื่องของการรับข้อมูลส่งต่อมาจาก CM และได้ดำเนินการช่วยเหลือ โดยน้องนุ่นเป็น 1 ในเคสของเด็กที่ได้รับทุนภาวะวิกฤตทางการศึกษา 6 เดือน จาก กสศ.
ภาพบรรยากาศการเยี่ยมบ้าน (สัมภาษณ์ หัวหน้ากลุ่มการสอน กศน.อำเภอวังทอง / พ่อของน้องนุ่น)
หลังจากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านของน้องนุ่น ที่อาศัยอยู่กับพ่อซึ่งพิการท่อนล่าง สัมภาษณ์ นายรุ้งภูธร ภาศรี หัวหน้ากลุ่มการสอน กศน.อำเภอวังทอง พ่อของน้องนุ่น และถ่ายสภาพแวดล้อมของบ้าน
รายงานสรุปผลการลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเคสเด็ก พื้นที่อำเภอวังทอง
วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 ณ กศน.ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor